วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2552

การติดเชื้อในกระแสเลือด

http://ramaclinic.ra.mahidol.ac.th/news/news0044/news0044.html


ติดเชื้อในกระแสเลือดแรงถึงตาย

การติดเชื้อในกระแสเลือด หรือภาษาชาวบ้านคือเลือดเป็นพิษ หมายถึงหมายถึงภาวะที่ร่างกายกำลังต่อสู้กับเชื้อโรค เช่น แบคทีเรีย ไวรัส หรือ เชื้อรา ซึ่งหากแพทย์บอกว่าติดเชื้อในกระแสเลือดก็มีโอกาสที่จะความดันเลือดต่ำเนื่องมาจากการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายหรือสารพิษจากเชื้อโรคนั่นเอง

สำหรับสาเหตุของการติดเชื้อในกระแสเลือด มีเชื้อโรคอยู่หลายชนิดด้วยกันที่ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ แต่สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย และการติดเชื้อในทุกอวัยวะก็สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อในปอด(ปอดอักเสบ) การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ(กรวยไตอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ) การติดเชื้อที่ผิวหนัง(ผิวหนังอักเสบจากแบคทีเรีย) การติดเชื้อในทางเดินอาหาร(ถ่ายเหลวจากการติดเชื้อ) การติดเชื้อในเยื่อหุ้มสมอง(เยื่อหุ้มสมองอักเสบ)

ใครบ้างที่มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือด?

- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่นผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยโรคเอดส์ ก็มีแนวโน้มที่จะติดเชื้อในกระแสเลือดได้ง่ายกว่าคนกลุ่มอื่น
- เด็กแรกเกิด เพราะว่าระบบภูมิคุ้มกันยังไม่เจริญพัฒนาได้ดีพอ เด็กแรกเกิดจะมีโอกาสติดเชื้อในกระแสเลือดได้ง่าย ซึ่งอาการหลักก็คือมีไข้ และเด็กแรกเกิดจำเป็นต้องได้รับยาปฎิชีวนะ
- ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นเบาหวาน โรคเรื้อรัง ก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือด
- ผู้ที่ทำการเปลี่ยนอวัยวะที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันเพื่อลดโอกาสที่จะร่างกายจะต่อต้านอวัยวะที่เปลี่ยนใหม่ ก็จะติดเชื้อในกระแสเลือดได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
- ผู้ที่ได้รับยาเคมีบำบัด

ถ้าผู้ป่วยมีอาการของการติดเชื้อในกระแสเลือด โดยทั่วไปจะมีไข้เป็นหลัก หนาวสั่น หัวใจบีบตัวเร็ว หรือหายใจเร็ว สับสน ปัสสาวะออกน้อย ซึ่งบางคนอาจมีผื่นขึ้นตามตัว หรือปวดตามข้อมือ ข้อศอก หลัง สะโพก หัวเข่า และข้อเท้า ดังนั้นจึงต้องรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที

อย่างไรก็ตาม ภาวะการติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นเรื่องที่รักษาได้ค่อนข้างยาก เพราะเริ่มต้นมาจากการติดเชื้อที่อวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง หลังจากนั้นเชื้อก็จะแพร่พันธฺ์กระจายไปตามกระแสเลือด ดังนั้นการรักษาก็คือให้ยาที่จำเพาะตรงกันกับเชื้อ ซึ่งในทางปฎิบัตินั้นทำได้ค่อนข้างลำบากเพราะบ่อยครั้งที่ตรวจเพาะเชื้อไม่พบ หรือหาอวัยวะเริ่มต้นที่มีการติดเชื้อไม่พบ ทำให้ไม่ทราบว่าน่าจะติดเชื้อโรคชนิดใด แพทย์จึงต้องใช้ยาที่สามารถฆ่าเชื้อได้หลากหลายชนิดแบบที่เรียกว่าครอบคลุมกันหมด เพราะหากเกิดการติดเชื้อจนทั่วร่างกายแล้ว ระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆจะทำงานผิดปกติและค่อยๆหยุดทำงานลงจนเสียชีวิตได้ในที่สุด


แหล่งข่าว : หนังสือพิมพ์ สยามกีฬา
โพสต์เมื่อ : 2008-09-17

ไม่มีความคิดเห็น: